วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

หนังสือเล่มเล็กเด็กหรรษาพาเพลิน
เรื่อง  ออกพรรษาอย่าละความดี
(ทำความดี  ช่วงออกพรรษา  ทำความดีตลอดไป)
   


             นางสิริพร  ทาชาติ
  โรงเรียนบ้านโนนสมบูรณ์
อำเภอประจักษ์ศิลปาคม        จังหวัดอุดรธานี
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุดรธานี เขต 2
คำนำ
           หนังสือเล่มเล็ก  เรื่อง  ออกพรรษาอย่าละความดี เป็นหนังสือเล่มหนึ่งในชุด  หนังสือเล่มเล็กเด็กหรรษาพาเพลิน       
            ออกพรรษาอย่าละความดี   ฉบับนี้ได้เขียนเพื่อให้ต่อเนื่องกันกับเรื่องละความชั่วทั้งปวง  ในช่วงเข้าพรรษา  ท่านได้ตั้งใจทำความดีในช่วงเข้าพรรษาแล้ว  ขอให้รักษาความดีต่อไปในช่วงออกพรรษาด้วย  เป็นการทำความดีตลอดไป ไม่ตกต่ำ  ไม่ถอยหลัง  แต่จะมีชีวิตที่เป็นสุขยิ่ง  
                                                                                                                                                        
                                  นางสิริพร  ทาชาติ                                                                                                           
                                  27  ตุลาคม  2556 


วัตถุประสงค์  
          
            หนังสือเล่มเล็กเด็กหรรษาพาเพลิน  ออกพรรษาอย่าละความดี  จัดทำขึ้นโดย  มีวัตถุประสงค์ 
            เพื่อกระตุ้นและปลูกฝังนิสัยรักการอ่านการเขียน 
            เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจใน  เรื่อง   การทำความดี  ช่วงออกพรรษา  ทำความดีตลอดไป  ให้กับเด็กและเยาวชน  ได้รักษาความดีตลอดไป
            เพื่อให้สอดคล้องกับคำขวัญของ  สพป.อุดรธานี เขต 2  ที่ว่า  “พ่อพาพอเพียง  ร้อยเรียงอ่านเขียน  อาเซียนก้าวล้ำ  คุณธรรมนำวิถี  ร้อยยี่สิบเอ็ดปีเมืองอุดร”
         

       ความดีเป็นของพิเศษ  ทำได้ง่ายดายกว่าความชั่วมาก
ไม่ต้องปกปิดในการกระทำ  ไม่ต้องมีความลำบากในการทำ  ตัวอย่างเช่น  การละความชั่วก็เป็นการทำดี  การจะทำความชั่ว  เช่น  ดื่มสุรา  ก็ต้องไปเสาะหามาดื่ม  เสียเงินไปซื้อ  แต่การตั้งใจว่า  จะไม่ดื่มอีกต่อไปเป็นความดี  เรียกว่า  มีศีลแล้ว 
เพียงตั้งใจว่าจะไม่ดื่ม  ไม่ต้องไปลำบากอะไร  ง่ายกว่าการไปหาสุรามาดื่มมากนัก  ทำชั่วยังต้องปกปิด  จะขโมยก็ต้องปกปิด  จะมีชู้มีกิ๊กประพฤติผิดในกามก็ต้องปกปิด  ความดีทำให้สบายใจไม่ต้องปกปิด  ทำไปเรื่อย ๆ  เมื่อคนอื่นทราบ  เขาก็อนุโมทนากับเรา  เขาก็ได้บุญ  เราก็ได้บุญ
 
         แต่การจะทำความดีได้  บางอย่างต้องฝืนใจ  ถ้าเราคุ้นกับการเพลินหรือมีความสุขในการทความชั่วก็ต้องฝืนใจและถ้าเราเผลอบ่อย ๆ  เช่น  ชอบนินทาพูดส่อเสียด  ก็ต้องมีความระวัง  สิ่งที่จะช่วยในการทำความดีได้  คือเราจะต้องมีศรัทธา  คือมีความเชื่อเสียก่อน  เชื่อในความดี  เชื่อในบาปบุญทุนโทษ  เชื่อว่าผู้ใดทำกรรมใดก็ตาม  จะดีหรือชั่วก็ตาม  ต้องได้รับผลกรรมนั้น  ถ้าไม่มีความเชื่อในบาปบุญคุณโทษจะไม่อยากทำความดี  อยากทำตามใจมากกว่า  อาจจะดีบ้างชั่วบ้าง  แต่ก็ตามใจเรานั่นเอง
        คนที่ไม่ทำดีจำนวนมาก  เป็นเพราะไม่มีความเชื่อและศรัทธาที่มากพอ  จะทำหรือเห็นประโยชน์จากการทำความชั่ว  ได้รับประโยชน์จากการทำชั่ว  ก็เห็นประโยชน์เฉพาะหน้า  ไม่อยากจะไปคิดเรื่องบาปบุญคุณโทษอะไร  บางคนคิดว่าบุญล้างบาปได้  บางคนคิดว่าก่อนจะตายทำความดี  ก็ไปสวรรค์ได้  พระบางรูปยังคิดว่า  ปลงอาบัติก็ได้  แต่ความจริงแล้วความชั่วล้างไม่ได้  เป็นพุทธพจน์เลยทีเดียวว่า  “ผู้ใดทำกรรมใดไว้  จะดีหรือชั่วก็ตาม  ย่อมได้รับผลแห่งกรรมอันนั้น”
           เมื่อทำกรรมชั่วก็รับกรรมชั่ว  กรรมยังอยู่  ไม่หนีไปไหน  ก่อนจะตายทำดี  ตั้งใจไว้ดี ๆ  ก็อาจจะไปสวรรค์ได้  หนีกรรมชั่วไม่ได้  กรรมชั่วยังอยู่คอยตามสนอง  เมื่อพ้นวาระการเสวยบุญในสวรรค์ที่แล้วนั้นเอง
          คนที่จะทำดีได้จึงต้องรู้ว่าอะไรคือความดี  และมีความศรัทธาพอที่จะทำ  ไม่มีสองสิ่งนี้  ก็มักทำดีไม่ได้  ทำได้ก็ได้น้อย  ทำได้ไม่นาน  แต่คนส่วนมากโชคดี  มีทั้งสองอย่างนี้อยู่แล้ว  คือมักจะรู้ว่าแล้วว่าอะไรดีชั่ว  แต่บางทีอยากทำชั่วเพราะมันมีความสุข  มีเหยื่อล่อแห่งความสุขให้เราทำ  รู้สึกมีประโยชน์ระยะสั้นเกิดขึ้น  ส่วนศรัทธานั้นจะเกิดได้  ต้องได้รับการปลูกฝัง  หรือมีประสบการณ์ตรง 
        ส่วนมากคนไทยได้รับการปลูกฝังมาแล้วจึงโชคดีจริง ๆ     
ตัวอย่างของการปลูกฝัง  คือ  คนไทยส่วนมากกลัวผี  แม้จะไม่เคยเห็นจริง ๆ  เลยก็ตาม  เมื่อผี  เปรตมี  พระก็มี  เทวดาก็มี  สิ่งศักดิ์สิทธิ์ก็ต้องมี  ไม่เช่นนั้นสิ่งใดทำเป็นผี  เป็นผีอดอยาก  เป็นผีน่ากลัว  สิ่งใดทำให้เป็นเทวดา  สิ่งใดทำให้ศักดิ์สิทธิ์มีฤทธิ์อำนาจ  ก็ด้วยบาปบุญที่ทำนั่นเอง
         ถ้าไม่เชื่อเรื่องบาปบุญคุณโทษตั้งแต่เด็ก  ก็ยากที่จะโน้มน้าวได้เว้นแต่จะได้ประสบการณ์ที่ดีเลิศ  ได้เห็นตัวอย่างที่ดี  ได้ศรัทธาในคนที่ดี  และมีกัลยาณมิตรคือเพื่อนที่ดีคอยชักจูง
         ความดีทำได้ทุกแบบ  อะไรก่อน  อะไรหลังก็ได้  ด้วยกาย  ด้วยวาจา  ด้วยใจ  โดยการทำความดีด้วยกาย 
           การทำความดี  คือ  การเสียสละช่วยเหลือแรงงาน  ด้วยการบริจาคให้ทาน  สงเคราะห์ความช่วยเหลือ  ให้ทานด้วยความเมตตาสงสาร  ให้ทานด้วยความเคารพ  ให้ทานด้วยความอ่อนน้อม  ให้ทานด้วยความศรัทธาว่ามีผลดี  ให้สังฆทาน  ให้วิหารทาน  ให้ธรรมทาน  ทั้งหมดเป็นทานที่มีอานิสงส์มาก
           การทำความดีด้วยวาจา  คือ  ให้ความรู้  ให้ความคิด  ให้ปัญญา  ให้กำลังใจ  พูดแต่สิ่งที่ดีให้กัน  ไม่ว่าร้ายไม่นินทา  ไม่ส่อเสียด  ไม่ด่าทอ  การทำดีด้วยวาจามีผลมาก  มีอานิสงส์มาก
        
        การทำดีด้วยวาจามีผลเพราะเป็นสิ่งที่จดจำได้ตลอดไป  เป็นสิ่งที่พลิกผันชีวิตคนอื่นได้  การแสดงธรรมของพระพุทธองค์เป็นการทำดีด้วยวาจาที่มีค่าที่สุดแก่โลกมนุษย์ไปตลอดกาล
         การทำความดีด้วยใจสำคัญที่สุด  เพราะว่าใจเป็นบ่อเกิดของกายวาจา  ใจเป็นใหญ่  ใจเป็นประธาน  ถ้าใจดี  ทุกอย่างก็ดี  ถ้าใจไม่ดี  กายวาจาก็ไม่ดีตาม  ใจที่ดี  คือ  ใจที่อบรมจนมีสมาธิใจที่อบรมจนมีปัญญา  มีการให้อภัย 
          ใจที่เห็นว่าทุกคนน่าสงสารน่าเมตตา  น่าจะให้ทุกคนมีความสุข  น่าจะมีแบ่งปัน  น่าจะช่วยเหลือและเห็นใจที่ห้ามใจไม่ให้ทำผิด  ทำชั่วต่าง ๆ 
 


           ก็เป็นใจที่ดี  เพราะความชั่วใด ๆ  ก็มักจะเป็นการเบียดเบียนคนอื่น  หรือไม่ก็ตนเองทั้งสิ้นถ้าเราเอาใจเขามาใส่ใจเรา  เราคิดได้ว่าไม่อยากได้สิ่งชั่วร้าย  ไม่อยากให้คนอื่นทำชั่วกับเรา  เรา ก็ไม่ควรทำชั่ว  ถ้าเราคิดได้ว่าเราอยากได้สิ่งดี  อยากให้คนทำดีกับเรา  เราก็ควรทำดีและให้สิ่งดีแก่คนอื่น
          ทุกอย่างไม่เที่ยง  ไม่อาจตั้งอยู่ได้นาน  และไม่มีสิ่งใดเป็นตัวเราของเราอย่างแท้จริง  แม้จะตั้งใจเก็บให้ลูกหลาน  ก็ไม่ใช่ขอเขาอย่างแท้จริงเช่นกัน  บางคนเกิดมาก็ดูดีเลิศหมด  แต่เขาก็มีกรรมที่ซ่อนเร้นเสมอ  รอเวลาส่งผล 
         เมื่อหมดบุญหรือเมื่อกรรมของเขาถ้าเราย้อนดูชีวิตเราเอง  ก็จะเห็นสิ่งนี้เช่นกัน  จะมีแต่ความดี  ความชั่วที่สะสมไว้จึงจะตามตัวเราและคนที่เรารักไปยังภพหน้าได้
        ถ้าเราสะสมความดีก็ได้รับความดี  ถ้าเราสะสมความชั่วก็ได้รับสิ่งชั่ว  ถ้าสะสมทั้งสองอย่างก็ได้ทั้งดีและชั่ว  สุขทุกข์ปนกันไป  ดังนั้นทุกคนที่มองเห็นข้อนี้ได้ก็ควรทำแต่สิ่งที่ดี  และทิ้งความชั่วให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
       การคิดถึงความไม่เที่ยง  เป็นการทำความดีด้วยใจที่ดี  คือ  ทำให้ปล่อยวางความยึดมั่นในตัวเราของเราได้  ให้หมั่นคิดเสมอว่า  ทุกอย่างไม่เที่ยง 
 
        ไม่อาจตั้งอยู่ได้นาน  และไม่มีสิ่งใดเป็นตัวเราของเราอย่างแท้จริง  ให้มองคนแก่  คนเจ็บ  และคนตายให้มาก ๆ
เมื่อใจมีสมาธิมากพอ  อบรมมากพอ  จะมีปัญญาแก่กล้า  จนเห็นความจริงอย่างนี้ลึกซึ้ง  สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราอยากจะมองข้าม  เราไม่อยากจะเห็น  เราเลยไม่เห็นความจริง  คนเรามักจะเห็นแต่สิ่งที่เขาอยากเห็นเท่านั้น 
            เมื่ออบรมใจมากพอด้วยศีล  สมาธิ  และปัญญา
จะเห็นไตรลักษณ์  คือ  อนิจจัง  ไม่อาจตั้งอยู่ได้นาน  มีความทุกข์  เรียกว่าทุกขัง  และไม่ใช่ตัวเราของเราแท้  ชนิดที่เราจะบังคับควบคุมได้  เรียกว่าอนัตตา  แม้ร่างกายและจิตใจเราก็เป็นอนิจจัง  ทุกขัง  อนัตตา  เมื่อใจคิดได้อย่างลึกซึ้งมากพอ  จะประหารทำลายกิเลส  บรรลุธรรมขั้นสูง  เป็นพระอริยเจ้า  เมื่อสิ้นชีพ ละสังขาร  จะไม่มาเกิด  เรียกว่าพ้นทุกข์ด้วยประการทั้งปวง

 



ภาพประกอบคำบรรยาย
 



            

ดร.ละออตา  พงษ์ฤทัศน์  รอง ผอ. สพป.อุดรธานี  เขต 2
 





                     นักเรียนเข้ค่ายพุทธธรรม




นักเรียนสวดมนต์สุดสัปดาห์  ฝึกสมาธิ  ทุกสัปดาห์

 


นักเรียนไปเยี่ยมชมบ้านตัวอย่าง  เพื่อดูห้าห้องชีวิตเนรมิตนิสัย
 






กิจกรรมทำวัตรเช้า  และตอนเย็นทำวัตรเย็น  ของนักเรียนและครู
 






ครูและนักเรียนทำบุญตักบาตรตอนเช้า
 






นักเรียนและครูจุดประทีป  โคมไฟ  บูชาพระรัตนตรัย
 




                                                        






            ก้มกราบไหว้บูชา    พระศาสดาพุทธศาสนา
  น้อมไหว้  ทุกเวลา             ตั้งใจว่า  จะทำดี
  ขีดเขียน  เพียรสรรค์สร้าง    พระธรรมอย่าง  มิถอยหนี
  มุ่งมั่น  ในหน้าที่                ผู้เรียนนี้  กระทำตาม
 





 บรรณานุกรม

การศาสนา, กรม.  (สิริ เพ็ชรไทย ป.., บรรณาธิการ). (2530).  
                     พระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับสังคายนา
                      ในพระบรมราชูปถัมภ์ พุทธศักราช ๒๕๓๐.  
                     กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์การศาสนา.
เฐียรพงษ์ วรรณปก, ราชบัณฑิต.   (2543). คำบรรยาย
                    พระไตรปิฎก. กรุงเทพฯ: ธรรมสภา.
 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น