หลวงปู่เสน ปัญญาธโร
นางสิริพร ทาชาติ
โรงเรียนบ้านโนนสมบูรณ์
อำเภอประจักษ์ศิลปาคม จังหวัดอุดรธานี
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุดรธานี
เขต 2
คำนำ
หนังสือเล่มเล็ก เรื่อง
หลวงปู่เสน ปัญญาธโร ฉบับนี้
ผู้เขียนได้ยึดเนื้อหาจากการกราบเรียนถาม
องค์หลวงปู่โดยตรง
สิ่งสำคัญในหนังสืออยากจะบอกผู้อ่าน
คือ ในยุคนี้ยังมีภิกษุที่ประพฤติดีประพฤติชอบ
มีความมุ่งมั่นตั้งใจอบรมสั่งสอน
เผยแผ่พระพุทธศาสนา
มีความเมตตาสูงมาก และมีความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา
และพระมหากษัตริย์อย่างหาที่เปรียบไม่ได้
จึงเป็นประวัติพ่อแม่ครูอาจารย์ที่น่าศึกษาค้นคว้าอย่างยิ่ง
หนังสือเล่มเล็ก เรื่อง
หลวงปู่เสน ปัญญาธโร ฉบับนี้
จึงเป็นหนังสือที่ช่วยให้เราให้เห็นถึงความพากเพียรพยายาม
ในการบำเพ็ญบารมีที่มิใช่เพียงการหลุดพ้นส่วนตน
แต่เพื่อสั่งสอนชี้ทางธรรมให้กับมนุษยชาติได้หลุดพ้นจากบ่วงทุกข์ด้วย
สิริพร ทาชาติ
27 เมษายน
2556
วัตถุประสงค์
หนังสือเล่มเล็ก เรื่อง หลวงปู่เสน
ปัญญาธโร
จัดทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์
เพื่อกระตุ้นและปลูกฝังนิสัยรักการอ่าน
เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจในคุณค่าของประวัติพุทธสาวก ให้กับเด็กและเยาวชน ได้เห็นถึงความมุ่งมั่นยึดมั่นในศีลในธรรม ขยันหมั่นเพียร ความเด็ดเดี่ยว ความมีน้ำใจของและความกตัญญูของหลวงปู่เสน ปัญญาธโร
เพื่อมอบธรรมคำสั่งสอนของหลวงปู่สน
ปัญญาธโร
แก่ท่านผู้อ่าน
ชีวประวัติ
หลวงปู่เสน ปัญญาธโร
ชาติภูมิ
นามเดิม ชื่อ
ประเสน ชัยพันธุ์
ต่อมาบิดาของหลวงปู่ได้เป็นทหารจึงเปลี่ยน
นามสกุลเป็น
จงประสม
เกิด วันที่ 6
ธันวาคม 2477
ถิ่นกำเนิด บ้านหนองอ้อใหญ่ ตำบลในเมือง
อำเภอเมือง จังหวัดกาฬสินธุ์
บิดา โยมมารดาชื่อ นายสี
จงประสม
มารดา โยมมารดาชื่อ พร
จงประสม
พี่น้อง มีพี่น้องร่วมบิดามารดา 9 คน
(ชาย 7 คน หญิง 4 คน)
การศึกษา
หลวงปู่จบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ซึ่งเป็นความรู้ชั้นสูงสุดที่มีในยุคนั้น ในสมัยนั้นถ้าเรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ก็สามารถเข้ารับราชการบรรจุเป็นครูได้
ในสมัยหลวงปู่ ไม่มีสมุดจดบันทึกวิชาความรู้
ใช้กระดานชนวน และดินสอพอง
เข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์
หลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ
เคยได้รับการปรนนิบัติจากสามเณรน้อยรูปหนึ่งชื่อ สามเณรเสน สามเณรน้อยรูปนี้อยู่กับท่านมานาน
แล้วได้จากหายไป จนสึกออกไปมีภรรยาและบุตร
แม้เณรจะจากท่านไปเป็นเวลานานท่านก็ยังจำได้เป็นอย่างดี
อยู่มาวันหนึ่ง หลวงปู่บัว
ได้พูดคุยกับหลวงปู่เพ็ง พุทฺธธมฺโมพระลูกชายของท่านว่า
“เอ.. เณรน้อยคนนั้น ไปไหนหนอ ได้เป็นไข้มาลาเรีย..เราพยายามรักษาเณรจวนจะหายแล้วหนีจากเราไป
ไม่รู้ว่าไปอยู่ไหน”
หลังจากหลวงปู่ปรารภถึงสามเณรน้อยของท่านได้เพียง
๒ วันเท่านั้น สามเณรของท่านก็กลับมา แต่มาในฐานะพระภิกษุเสน ปญฺญาธโร บวชได้ ๒
พรรษาแล้ว การปรารภของหลวงปู่ในครั้งนั้นเหมือนท่านได้รู้เหตุการณ์ล่วงหน้า
ต่อมาภายหลัง
พระอาจารย์เสน ได้รับมอบภาระให้เป็นเจ้าอาวาส ปกครองวัดป่าบ้านหนองแซง
สืบต่อจากหลวงปู่ ได้ทำการพัฒนาวัดจนเจริญรุ่งเรืองมาโดยลำดับ จนกระทั่งปัจจุบัน
ผลงานของหลวงปู่เสน ปัญญาธโร
1.
ปลูกป่าติดต่อกันมาเป็นเวลา 30 ปี
2.
จัดตั้งบ้านพักคนชรา ดูแลผู้สูงอายุด้วยวิถีพุทธ
3.
จัดทำแท่นมหัศจรรย์ เพื่อสุขภาพ
4.
จัดทำน้ำมันสมุนไพรรักษาโรค
5.
จัดสร้างโรงพยาบาลหลายแห่งในจังหวัดอุดรธานี
6.
จัดทำสระเก็บน้ำขนาดใหญ่เก็บกักน้ำไว้ใช้
7.
จัดสร้างถังประปาขนาดใหญ่ส่งน้ำให้ชุมชนหลายหมู่บ้านได้ใช้
8.
ช่วยเหลือดูแลรักษาผู้สูงอายุที่เป็นโรคอัมพฤกษ์อัมพาต
9.
อบรมสั่งสอนวิชาชีพงานช่างต่าง
ๆ แก่ผู้ที่มีความสนใจ
10.
อบรมสั่งสอนศีลธรรมจริยธรรม สมาธิกรรมฐาน
แก่บุคคลที่มีความสนใจ
11.
ผลิตน้ำหมักชีวภาพใช้เป็นปุ๋ยบำรุงพืช
12.
ผลิตน้ำพริกปลาร้าบริจาคแก่ประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วม
13.
เมตตาช่วยเหลือปัจจัยสี่แก่ภิกษุสงฆ์ ประชาชน
นักเรียน ผู้ที่ขาดแคลน
14.
บริจาคที่ดิน วัว
ควาย แก่ชาวบ้าน
15.
บริจาคทองคำช่วยชาติ แก่โครงการช่วยชาติ
16.
จัดสร้างโรงเรียนหลายแห่งในจังหวัดอุดรธานี
ระเบียบและข้อปฏิบัติ
วัดป่าหนองแซง
หลวงปู่ท่านเน้นความมีระเบียบวินัย
พระเณรทุกรูปต้องทำตนเป็นผู้มีสัจจะ
และข้อวัตรทุกเมื่อ
ข้อวัตรกลางวัน พอรุ่งสว่างเป็นวันใหม่
พระเณรทุกรูปนำบริขารของตนที่เกี่ยวกับการฉัน ลงรวมบนศาลาโรงฉัน จัดให้ได้ระเบียบและทำสะอาดบนศาลา พอถึงเวลาที่เที่ยวภิกขาจารบิณฑบาต ต่างองค์ก็เตรียมนุ่งสบงจีวรซ้อนสังฆาฏิ ไปเที่ยวบิณฑบาตตามที่จัดไว้
เมื่อกลับมาพร้อมเพรียงกันแล้ว จัดอาหารเสร็จ
ก็เริ่มลงมือฉัน
เมื่อฉันเสร็จแล้ว
ทำข้อวัตรของตนและช่วยกันทำข้อวัตรศาลาจนสะอาด เก็บเครื่องบริขารขึ้นกุฏิ ต่อจากนั้นลงสู่ทางจงกรม เดินจงกรมไปจนถึง 5 ชั่วโมง
ทำข้อวัตรสำหรับตน
แล้วลงกวาดตาดทำความสะอาดบริเวณวัด
และจัดหาน้ำฉัน
ตลอดจนสรงน้ำเรียบร้อย
เตรียมลงทำวัตรเย็น ทำสมาธิ ต่อประมาณ 4 ชั่วโมง
มีบาตรอยู่หนึ่งใบไปโปรดหมู่
ตอนเช้าตรู่ทุกวันนั้นสดใส
เย็นทำวัตรที่ศาลาทุกครั้งไป
สร้างนิสัยปัจจัยให้ได้ดี
กวาดลานวัดกวาดล้างใจให้สะอ้าน
กิจการงานสอนจิตทุกวันวี่
เดินจงกรมภาวนาที่กุฎี
แสนสุขศรีนี่คือสงฆ์องค์หนองแซง
คำสอนของหลวงปู่เสน ปัญญาธโร
ความทุกข์ มีได้ตอดเวลา
ไม่ว่าจะเสียทรัพย์สิน
น้ำท่วม เป็นหนี้เป็นสิน อยากได้แล้วไม่สมหวัง หรือได้รับสิ่งที่เราไม่ชอบ หรือต้องเป็นในสิ่งที่เราไม่ชอบ แต่ความทุกข์ที่หนักมาก ๆ คือความเจ็บป่วย และความตาย
ซึ่งอาจจะทำให้เรื่องน้ำท่วมบ้านเป็นเรื่องเล็กไปเลย เมื่อเทียบกับการพบว่า
เราหรือคนที่เรารักที่สุดเป็นโรคร้ายแรงความทุกข์ในหัวข้อนี้
ไม่ใช่ทุกข์น้อย ๆ แต่เป็นทุกข์ระดับมะเร็ง เอาแบบที่รักษาไม่หายนั่นเลยที่เดียว
โลกของเรามีความสุขที่แท้จริง มีความทุกข์ที่แท้จริงหรือไม่ ตอบว่า
มีเพราะโลกเรามีทั้งสุขและทุกข์
และไม่สุขไม่ทุกข์
ทั้งสองอย่างเกิดได้กับทั้งกายและใจ
เพียงแต่ไม่เที่ยง
ไม่เหมือนความทุกข์ยั่งยืนกว่า
และความทุกข์นั้นบางอย่างดูเที่ยงแท้กว่ากันมาก
เมื่อมีความทุกข์แล้ว การจะหาความสุขไม่ใช่ของยากอะไรเลย ไปหาของสนุกทำ
ไปกินของอร่อย ๆ ไปฟังเพลงเพราะ
ๆ หรือหาของถูกใจทำ ก็มีความสุขได้ เพียงแต่ทำใจให้ลืม ๆ ความทุกข์นั้นนิดหน่อย อย่าไปคิดถึงมาก กลบ ๆ
มันไปแบบนี้ก็ใช้ได้ คือ คิดบวกไว้
อย่าคิดลบ
ดังตัวอย่างว่าถ้าในห้องนอนเรามีถังขยะกับแจกันใส่ดอกไม้หอมสวย ถ้าเอาอะไรไปทิ้งไม่ได้เลย ก็ต้องไปดูไปชมดอกไม้ให้มาก ๆ ส่วนขยะอย่าไปดูอย่าไปดมมัน ให้มองข้ามมันไป
แต่เมื่อมีความทุกข์ คิดจะดับทุกข์นั้นยากกว่า เพราะทุกข์บางอย่างมันลึกซึ้งนัก เสมือนมีดบาดใจ คิดทีไรก็แปล๊บ แปล๊บทุกที
ไม่มีหาย เสมือนแก้วร้าวฉาน จะประสานดั่งเดิมได้อย่างไร เช่น
อกหัก ลูกตาย ลูกพิการ
สามีตาย หรือเราเป็นมะเร็ง เราจะต้องตายเร็ว ๆ นี้แล้ว
เราติดเอดส์แล้วหรือนี่ สิ่งเหล่านี้ลองได้เกิดกับตัวเราจะมีทุกข์อันลึกซึ้งนัก แม้จะดูหนังฟังเพลง หัวเราะมีความสุขอยู่กับคนรอบข้าง แต่ถ้าคิดเรื่องทุกข์นี้ขึ้นมา ก็เหมือนมีมีดมาแทงใจทุกครั้ง เหมือนมีสายฟ้าฟาดลงไปที่หัวใจ ความสุขที่มีจะลดดีกรีลงไปทันที
ทำอย่างไรจะให้ความทุกข์นั้นหายไป
พระพุทธเจ้าท่านสอนเอาไว้แต่ท่านสอนเอาไว้อย่างไร
ท่านสอนว่า ทุกข์นั้นมีจริงและอยู่คู่โลก ที่สำคัญ
มันไม่ได้เกิดกับเราคนเดียว
เกิดกับคนทั้งโลกในรูปแบบต่าง ๆ
กัน สุดแต่กรรมที่ทำมา เกิดได้กับทุกคน เพียงแต่เราเพิ่งจะเจอเท่านั้น เราเพิ่งจะโดนกับตัวเอง คนอื่น
ๆ เขาโดนมาก่อนแล้วทั้งนั้น เพียงแต่บางคนก็ตายไปแล้ว คนที่ตายไปแล้วในโลก ล้วนมีความทุกข์มาแล้วทั้งนั้น ส่วนคนที่ยังเป็น ๆ อยู่
บ้างก็อยู่ในสถานที่ที่เราไม่รู้
เราจึงอาจจะไม่ค่อยเจอ
แต่ถ้าลองนำมารวมกัน
จะเห็นว่าเต็มโลกไปหมดเหมือนกันคนที่ลูกตายหรือพิการก็มีเต็มไปหมด คนเป็นมะเร็งมารวมกันก็มีเต็มไปหมด
เราไปรู้สึกเองว่า ทำไมต้องเป็นเรา ก็เพราะเราเพิ่งจะเจอ ถ้าไม่มีความทุกข์ ก็คงไม่มีพระพุทธ พระธรรม
พระสงฆ์ เพราะมีความทุกข์ จึงมีพระพุทธเจ้า ผู้ที่เห็นว่าเรื่องทุกข์นี้ช่างหนักหนาจริง
ๆ ความแก่ ความเจ็บ
ความตาย เลี่ยงไม่ได้ ความพลัดพรากต้องมีขึ้นจริง ความไม่เที่ยงของความสุข สุดท้ายจะดับได้ด้วยความเจ็บ ความตาย
และความพลัดพราก
ทุกข์นี้ต้องเจอ มันมีอยู่จริง
ๆ พระพุทธองค์เมื่อยังเป็นเจ้าชายอยู่ ท่านคิดเรื่องนี้อย่างลึกซึ้ง จนทุ่มชีวิตสละความสุข หาวิธีจัดการกับความทุกข์ ให้แก่ชาวโลกและคนที่ตนรัก ทั้งคิดวิธี
ทั้งลองปฏิบัติ
จัดการกับเรื่องนี้จนดับทุกข์ได้
ถ้าไม่มีพระองค์ท่าน
ไม่มีพระพุทธศาสนา
ทุกข์
นั้นมีจริง แล้วจะทำอย่างไร ท่านสอนว่าให้เพียงแต่กำหนดรู้ กำหนดรู้เฉย ๆ
ว่ามันมีจริงแล้วก็เพียงพอแล้ว
อย่าไปคิดวนเวียนให้มาก
อย่าไปหลงเฝ้าพิจารณาหมั่นคิดในเรื่องนี้
จากนั้นให้รู้ว่า สาเหตุมันมี คือ
ความอยาก ภาษาธรรมเรียกว่า ตัณหา
คือ อยากมี อยากเป็น
ไม่อยากมีไม่อยากเป็น
เรื่องตัณหาเป็นสิ่งที่ควรจะละ
แต่จะละมันได้อย่างไรว่ากันอีกที
จากนั้นทรงสอนว่า ความดับทุกข์นั้นมีได้จริง
ๆ ไม่ใช่มีไม่ได้ ภาษาธรรมเรียกว่า นิโรธ
สุดท้ายทรงสอนวิธีความดับทุกข์ เรียกว่า
มรรค ซึ่งมรรคนี่แหละ คือสิ่งที่เราควรทำให้มาก (ท่านใช้คำว่า
ควรเจริญ แปลว่ากระทำให้มาก) ควรคิดเรื่องนี้ ควรพิจารณาเรื่องนี้ ควรทำเรื่องนี้ เมื่อทำมากพอ
ความทุกข์จึงจะหายไป
ทั้งหมดนี้ อย่าทำผิดหน้าที่ ความรู้นี้เรียกว่า อริยสัจสี่
ทุกข์
คือ สิ่งที่เราควรกำหนดรู้
สมุทัย สาเหตุของทุกข์ คือ สิ่งที่เราควรละ
นิโรธ
ความดับทุกข์ คือ สิ่งที่เราควรทำให้มีขึ้น
มรรค
คือ สิ่งที่เราควรกระทำให้มาก
ดังนั้นมีทุกข์ อย่าไปวนเวียนในความทุกข์ให้มาก ยิ่งวนเวียนมากจะยิ่งทุกข์มาก มีหนังสือเล่มหนึ่งเขียนไว้เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนว่า เหมือนลิงมือเปื้อนกะปิ มันก็ดม
แล้วก็ถูพื้น ตั้งใจจะให้กลิ่นออกหายไปจนมือถลอก เฝ้าดมถู
ดมถูอยู่นั่นแหละ มันต้องแก้ด้วยการล้างในทำนองเดียวกัน เมื่อมีทุกข์จะไปวนเวียนคิดถึงมันทำไมเล่า มันต้องแก้ด้วยมรรค คือ
ศีล สมาธิ ปัญญา
ศีล ต้องตั้งใจทำ
ให้สมาทานทันทีว่า
เราจะเว้นห้าประการ คือ ไม่ฆ่า
ไม่เบียดเบียนสัตว์
ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม ไม่โกหก
ไม่ดื่มสุรา
เมื่อตั้งใจอย่างจริงจัง
ศีลจะเกิดขึ้นทันที
โดยไม่ต้องไปขอศีลจากใครก็ได้
ส่วนสมาธิเกิดได้จากสองอย่างคือ
จากการเจริญสติ หรือเพ่งกสิณ จะดูลมหายใจ
ดูความคิด บริกรรม พุทโธ
สัมมาอะระหัง ยุบหนอพองหนอ ทำสติกับการยกมือ ต่างก็ทำได้ทั้งนั้น ส่วนปัญญาเกิดจากการอ่าน การศึกษา
และคิดบ่อย ๆ ในสิ่งที่ควรคิด
ความเกิด แก่
เจ็บ ตาย เป็นเรื่องธรรมดา ใคร ๆ
ก็เป็น
ไม่ว่าใครต่างก็ต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจด้วยกันทั้งสิ้น ส่วนร่างกายและจิตใจนั้น ที่แท้แล้วไม่ใช่ตัวเราของเรา เพราะเป็นของไม่เที่ยง ไม่ได้ตั้งใจ
นึกจะให้ไม่ป่วยมันก็ป่วย
นึกจะให้ไม่เจ็บได้ เป็นต้น ให้คิดอย่างนี้บ่อย ๆ ท่องเอาไว้เป็นคาถาเลยก็ได้ และเมื่อศีลดี
สมาธิดี
จะส่งเสริมปัญญาให้แรงกล้าขึ้นเรื่อย ๆ
จนไม่มีความทุกข์ คือ
ตัดทุกข์จากใจได้หมดเลย
เสมือนถูไม้สีไปสีมา
เมื่อมีเหตุมีปัจจัยมากพอ
จะเกิดไฟติดพรึบ
ตัดความมืดออกไปทันที ใจจะสว่างสงบ หมดความทุกข์อย่างสิ้นเชิง เราต้องเฝ้าถูไม้ ทำปัจจัยที่จะเกิดไฟให้มีขึ้น เสี่ยงปัจจัยที่จะทำให้ไฟไม่ติด เช่น
ความชื้น เรามีหน้าที่อย่างนี้
คำเทศนาของหลวงปู่ที่ท่านพูดเน้นย้ำสม่ำเสมอ
การเอาชนะตนได้ หมายถึงการเอาชนะใจตนเอง
โดยไม่ยอมให้จิตของตนตกไปในฝ่ายต่ำ
ต้องสามารถเอาชนะด้วยการควบคุมจิตของตนให้อยู่ในอำนาจ อาจบังคับบัญชาให้ตัดกิเลส
คือสิ่งที่ทำใจให้เศร้าหมองทำให้จิตใจขุ่นมัว อันจะชักจูงให้ไปสู่ความประพฤติชั่วฯ
ท่านจึงแนะนำสั่งสอนให้ทุกคนเอาชนะตนเองให้ได้
พึงชนะคนโกรธ ด้วยความไม่โกรธ
พึงชนะคนไม่ดี ด้วยความดี พึงชนะคนตระหนี่ ด้วยการให้
พึงชนะคนพูดเหลวไหล ด้วยความจริง
พึงชนะคนไม่ดี ด้วยความดี พึงชนะคนตระหนี่ ด้วยการให้
พึงชนะคนพูดเหลวไหล ด้วยความจริง
สติ หมายถึง ความระลึกได้ หรือพูดอีกอย่างหนึ่งคือ "ให้รู้สึกตัว" ให้รู้สึกตัวในการเคลื่อนไหว กระพริบตาก็รู้ หายใจก็รู้
จิตใจมันนึกมันคิดก็รู้
การเคลื่อนไหวเป็นสาระสำคัญของการเจริญสติ ถ้าหากเรานั่งนิ่งๆ
ไม่มีการเคลื่อนไหว พอดีมันเกิดขึ้นมา เราก็เลยไปรู้กับความคิด มันเป็นการเข้าไปอยู่ในความคิดเพราะไม่มีอะไรดึงไว้ ดังนั้นจึงมีการฝึกหัดการเคลื่อนไหวของรูปกาย ให้รูปกายเคลื่อนไหวอยู่เสมอ ถ้าเรามีสติรู้อยู่กับการเคลื่อนไหวของรูปกาย เมื่อใจคิดขึ้นมา เราจะเห็น เราจะรู้
การปฏิบัติธรรมปฏิบัติลงที่ กาย วจา ใจ
กายคือความประพฤติปฏิบัติทางกายที่ปรกติ วาจาคือพูดจาดี พยายามอย่าพูดคำเสียดสีบุคคลอื่น
ให้เอาใจเขามาใส่ใจเราเรื่องการพูดจากระทบกระทั่งกัน เป็นคนพูดจาดี
พูดในสิ่งที่ควรพูด ใจคืออยู่ที่หัวใจ เป็นความรู้สึกของใจ ไม่ว่าจะรัก โลภ โกรธ
หลง ล้วนเกิดขึ้นที่ใจ ในเบื้องต้นให้ทำบุญให้ทานบ้าง แล้วรักษาศีล และเจริญภาวนา
การภาวนาควรภาวนาอริยสัจสี่ นี้คือทางนิพพาน มรรค 8 นี้แหละทางนิพพาน
และให้เป็นผู้มีสติอยู่เสมอ พยายามยับยั้งชั่งใจในการกระทำที่เป็นกิเลสหรือสิ่งผิด
บรรณานุกรม
http://udn.onab.go.th
หลวงปู่เสน ปัญญาธโร.
วัดป่าหนองแซง
ต.หนองบัวบาน อ.หนองวัวซอ
จ.อุดรธานี.
ประวัติผู้จัดทำ
ชื่อ – สกุล
นางสิริพร ทาชาติ
ตำแหน่ง ครู วิทยฐานะชำนาญการพิเศษ
วัน
เดือน ปี เกิด 24
มิถุนายน 2504
ภูมิลำเนา 61
หมู่ 8
ตำบลห้วยสามพาด
อำเภอประจักษ์ศิลปาคม
จังหวัดอุดรธานี
วุฒิการศึกษา ปริญญาโท
วิจัยวัฒนธรรมศาสตร์
มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
ที่ทำงาน
โรงเรียนบ้านโนนสมบูรณ์
อำเภอ ประจักษ์ศิลปาคม
จังหวัดอุดรธานี
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา
ประถมศึกษาอุดรธานี เขต 2
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น